รัฐบาลไทยได้ให้สิทธิการเข้าถึงการบริการสาธารณสุขแก่เด็กนักเรียนที่ไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนหลายพันคนทั่วประเทศ โดยเปิดโอกาสให้เข้าถึงระบบประกันสุขภาพ ซึ่งครอบคลุมการป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพ นอกจากนี้เด็กนักเรียนยังได้รับเอกสารประจำตัวและสามารถพัฒนาสถานะทางกฎหมายของตนเอง ซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติได้ในที่สุด
เมื่อวันที่ 30 มีนาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการการให้สิทธิขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุข (สิทธิฯ) กับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ เด็กและบุคคลที่เรียนอยู่ในสถานศึกษา ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ตรวจสอบความซ้ำซ้อนและกำหนดเลขประจำตัว 13 หลัก เรียบร้อยแล้วจำนวนกว่า 5,000 คน ซึ่งเป็นการอนุมัติครั้งที่ 2 ต่อเนื่องจากการอนุมัติครั้งแรกจำนวนกว่า 3,000 คน เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2563 โดยการให้สิทธิ (คืนสิทธิ) นี้จะทำให้เด็กนักเรียนไร้รัฐไร้สัญชาติสามารถเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขของรัฐได้และยังช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายอีกด้วย
การให้สิทธิ (คืนสิทธิ) ขั้นพื้นฐานด้านสาธารณสุขกับบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิดังกล่าวนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2553 ซึ่งดำเนินการตามยุทธศาสตร์การจัดการสถานะและสิทธิของบุคคล พ.ศ. 2548 ที่มีการระบุถึงการให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่บุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบเพิ่มเติม (ครั้งที่ 2) เมื่อ พ.ศ. 2558 โดยได้รวมเด็กนักเรียนในสถานศึกษาไว้ด้วย
จูเซ็ปเป้ เด วินเซ็นทีส ผู้แทนข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยยังคงทำงานอย่างต่อเนื่องในการแก้ไขปัญหาไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยการปรับปรุงมาตรการทางกฎหมายให้เอื้อกับบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ”
“มติคณะรัฐมนตรีล่าสุดนี้นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของรัฐบาลไทยที่จะรวมเอากลุ่มคนชายขอบและกลุ่มผู้มีความเปราะบาง เช่น บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ให้อยู่ในระบบประกันสุขภาพของประเทศ ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่จะยกระดับการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็น อีกทั้งยังเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาสถานะบุคคลและยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติด้วย”
ความก้าวหน้านี้สอดคล้องกับคำมั่นสัญญาในการที่จะเพิ่มประสิทธิภาพและยกระดับการให้ความคุ้มครองทางสังคม (social protection) แก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่รัฐบาลไทยได้แถลงต่อที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ จัดโดย UNHCR ที่กรุงเจนีวา เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2562 นับเป็นจุดกึ่งกลางของโครงการ #IBelong เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ
ประเทศไทยได้แสดงถึงความมุ่งมั่นและเป็นผู้นำในภูมิภาคในการป้องกันและลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ อีกทั้งให้ความคุ้มครองสิทธิของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ทั้งนี้ จากการปฏิรูปกฎหมายสัญชาติและการทะเบียนราษฎรที่ผ่านมา ทำให้อดีตบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนกว่าหนึ่งแสนคนได้รับสัญชาตินับตั้งแต่ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา
#Statelessness
Share on Facebook Share on Twitter