ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาบริเวณชายแดนไทย-เมียนมายังคงร่วมกันทำให้เพื่อนและครอบครัวตื่นตัว ระมัดระวัง สวมใส่หน้ากาก และรักษามาตรการการเว้นระยะห่างทางกายภาพ
เป็นเวลา 1 ปีที่ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกจากต่างประเทศเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2563 ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาได้ช่วยสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการป้องกันตัวจากโรคโควิด-19 อย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับคนไทยทุกคนเพื่อสนับสนุนความพยายามของรัฐบาลในการควบคุมโรคตลอดเวลาที่ผ่านมา
ในประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาอยู่ราว 92,000 คน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธ์ชาวกะเหรี่ยงและกะเหรี่ยงแดงที่อาศัยอยู่ในที่พักพิงชั่วคราว (ค่าย) ทั้ง 9 แห่งบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา บางส่วนได้เริ่มเข้ามาอาศัยในช่วงกลางคริสต์ทศวรรษ 1980 หลังจากหนีภัยจากการสู้รบ
โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อทุกคน รวมถึงผู้ลี้ภัยในประเทศไทยที่มีความเสี่ยงต่อการติดและแพร่กระจายเชื้อไวรัสไม่ต่างจากคนไทยทุกคน แต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีความเปราะบางมากเนื่องจากความท้าทายที่ขาดแคลนปัจจัยขั้นพื้นฐาน การเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และการจัดหาอุปกรณ์สุขอนามัยหรือการช่วยเหลือทางการแพทย์
หน่วยงานรัฐทั่วโลกต่างมีหน้าที่รับผิดชอบต่อการรับมือด้านสาธารณสุขของประเทศ และเพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทย สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และพันธมิตรได้จัดส่งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ชุมชนผู้ลี้ภัยเป็นภาษากะเหรี่ยง กะเหรี่ยงแดง และเมียนมา รวมถึงการจัดประชุมย่อย การลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเรือน และการจัดฉายภาพยนตร์ ปิดแผ่นประกาศ และการประกาศผ่านระบบกระจายเสียงสาธารณะภายในค่าย อีกทั้งยังแจกจ่ายหน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าแก่ผู้ลี้ภัยทุกคนในค่ายทั้ง 9 แห่ง องค์กรพันธมิตรของ UNHCR ได้จัดการอบรมด้านทักษะและความรู้ที่จำเป็นแก่ผู้ลี้ภัยเพื่อให้พวกเขาสามารถสื่อสารแนวทางการป้องกันโรคโควิด-19 ให้แก่ชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในการรับมือต่อการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในบางพื้นที่ของประเทศไทย บุคคลทุกกลุ่มในประเทศต่างถูกกระตุ้นให้ตื่นตัว ร่วมกันช่วยให้เพื่อน ครอบครัว และเพื่อนบ้านรักษามาตรการการเว้นระยะห่างทางกายภาพและสวมใส่หน้ากากอาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ทราบดีถึงความสำคัญในการสร้างการรับรู้แก่ชุมชนของพวกเขา เพื่อให้ทุกคนได้รับทราบข้อมูลอยู่เสมอและผลักดันให้ปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันต่างๆ
ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา โพ ก่อ วัย 61 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแม่ลามาหลวง จังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่พ.ศ. 2538 เธอช่วยสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการในค่ายด้วยการประกาศข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับโรคโควิด-19 และคำแนะนำในการปฏิบัติตัวผ่านระบบกระจายเสียงสาธารณะ การประกาศเหล่านี้เกิดขึ้นเป็น
ประจำตามประกาศรายงานสถิติผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั้งในประเทศไทยและเมียนมา ประเทศเพื่อนบ้าน “ฉันบอกผู้อาศัยทุกคนให้ป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของโรคนี้ รวมถึงพยายามให้พวกเขาล้างมือและสวมใส่หน้ากากอยู่เสมอ” เธออธิบาย
ซอ เวท ลา วัย 67 ปี อาศัยอยู่ในพื้นที่พักพิงชั่วคราวแม่ละอูน จังหวัดแม่ฮ่องสอนตั้งแต่พ.ศ. 2558 เขาเป็นผู้นำของกลุ่มครัวเรือน 10 ครอบครัวที่อาศัยในละแวกเดียวกัน ปีที่แล้วเขาได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 จากองค์กรพัฒนาเอกชนนานาชาติด้านสุขภาพ “การอบรมนี้ช่วยให้ผมรู้ว่าจะต้องส่งต่อข้อมูลและสร้างการรับรู้ให้เพื่อนบ้านและผู้พักอาศัยในละแวกเดียวกันกับฉันอย่างไร” เขาอธิบาย
นอกจากความกังวลในการป้องกันโรคโควิด-19 แล้ว ความขาดแคลนด้านปัจจัยขั้นพื้นฐานยังคงเป็นวิกฤตสำหรับผู้ลี้ภัยหลายๆ คนในค่ายทั้ง 9 แห่ง ความเป็นอยู่ของพวกเขาที่มีความเสี่ยงอยู่แล้วนั้น ต้องเผชิญข้อจำกัดที่มากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงความเสี่ยงด้านการคุ้มครองผู้ลี้ภัยที่มีความเปราะบางมากที่สุดด้วย
ในการรับมือต่อสถานการณ์นี้ UNHCR ทำงานอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาลไทย องค์กรด้านมนุษยธรรม ภาคเอกชนของประเทศไทย และภาคประชาสังคมเพื่อเพิ่มและขยายการสนับสนุนต่อความขาดแคลนดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น พร้อมกระตุ้นกิจกรรมรณรงค์การต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศและการคุ้มครองเด็กให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ และขอการสนับสนุนงบประมาณอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เราสามารถทำงานมอบความช่วยเหลือที่จำเป็นต่อไปได้
UNHCR เรียกร้องการสนับสนุนให้ผู้ขอลี้ภัย ผู้ลี้ภัย และบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยได้รวมอยู่ในแผนการเฝ้าระวัง รับมือและวางแผนเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของรัฐบาลในประเทศ อีกทั้งควรได้เข้าถึงการตรวจหาเชื้อโรคโควิด-19 การรักษาและการจัดการรายกรณี และจากนี้ UNHCR ได้ร้องขอให้บุคคลเหล่านี้ได้รวมอยู่ในแผนการแจกจ่ายวัคซีนของรัฐบาลเช่นเดียวกับการจัดสรรให้ประชากรภายในประเทศ หากผู้ลี้ภัย ผู้พลัดถิ่น หรือชาวต่างชาติ ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในแผนการแจกจ่ายวัคซีน จะทำให้ประชากรของประเทศต้องตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการติดต่อของโรคด้วยเช่นกัน
เราทุกคนสามารถช่วยกันป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้ได้ และด้วยความช่วยเหลือจากคุณ เราสามารถช่วยชีวิตผู้ลี้ภัยได้อีกมากมาย
Share on Facebook Share on Twitter