UNHCR ชื่นชมการตัดสินใจของรัฐบาลเคนยาที่ให้สัญชาติกับชาวโชนาที่ไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวน 1,670 คนและคนที่มีเชื้อสายรวันดาที่มีคุณสมบัติตามกฎหมายในการเป็นพลเมืองเคนยาอีกจำนวน 1300 คน
ประธานาธิบดี อูฮูรู เคนยัตตา แห่งประเทศเคนยา ได้ประกาศถึงความก้าวหน้านี้ระหว่างการเฉลิมฉลองวันชาติของเคนยาครบรอบ 57 ปี (Jamhuri Day) เมื่อวันเสาร์ที่ 12 ธันวาคมที่ผ่านมา
ฟาธิอา อับดัลลา ผู้แทน UNHCR ประจำประเทศเคนยา กล่าวว่า “นี่คือความก้าวหน้าที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับคนนับพัน เราขอชื่นชมการตัดสินใจของรัฐบาลเคนยาที่ให้สัญชาติแก่พวกเขา เพื่อให้พวกเขาได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างแท้จริง นี่จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานและเป็นตัวอย่างให้กับประเทศอื่นๆ ให้ปฏิบัติตามเมื่อต้องแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีมาอย่างยาวนาน”
ชุมชนชาวโชนาเป็นมิชชันนารีคริสเตียนในช่วงปี ค.ศ. 1960 ที่อพยพมาจากประเทศซิมบับเว (ชื่อในขณะนั้นคือ โรดีเซียใต้ และต่อมาเปลี่ยนเป็น โรดีเซีย) พวกเขาถือหนังสือเดินทางของอังกฤษและได้รับการจดทะเบียนเป็นพลเมืองอังกฤษ ต่อมาเมื่อเคนยาประกาศเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1963 ได้เปิดโอกาสให้มีการจดทะเบียนเป็นพลเมืองเคนยาภายในสองปี แต่คนจำนวนมากพลาดช่วงเวลานั้นไป นอกจากนี้ด้วยความที่พวกเขาไม่ได้อาศัยในประเทศบ้านเกิด ทำให้ไม่สามารถจดทะเบียนได้ และนี่เป็นเหตุผลที่กลายเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
ในส่วนของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติที่มีเชื้อสายรวันดานั้น ได้อพยพเข้ามาในประเทศเคนยาในช่วงปี ค.ศ.1930 โดยทำงานในไร่ชาในแคว้นโคริโช และด้วยปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน ทำให้พวกเขาตกอยู่ในสถานะที่ใกล้เคียงกันชาวโชนา และกลายเป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
ฟาธิอา อับดัลลา ผู้แทน UNHCR ประจำประเทศเคนยา กล่าวด้วยว่า “การได้รับการยอมรับเป็นพลเมืองนั้น ย่อมยืนยันถึงการมีสิทธิต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาล การจ้างงาน การเป็นเจ้าของทรัพย์สิน และการเข้าถึงการบริการทางการเงิน”
การตัดสินใจให้สัญชาติของรัฐบาลเคนยานี้ เป็นไปตามคำมั่นที่รัฐบาลได้ให้ไว้ต่อที่ประชุมระดับสูงว่าด้วยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติ ที่จัดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 2019 ณ ที่ประชุมดังกล่าว รัฐบาลเคนยายังได้ให้คำมั่นในการที่จะเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติอีกด้วย
ประเทศเคนยาเป็นบ้านของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติประมาณ 18,500 คน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ นอกจากชาวโชนาและกลุ่มคนที่มีเชื้อสายรวันดาแล้ว ยังมีกลุ่มที่เรียกว่า ชาวเพมบา ที่บรรพบุรุษของพวกเขามาจากเกาะเพมบา ประเทศแทนซาเนียด้วย จากกรอบการทำงานภายใต้โครงการ #IBelong เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติภายในปี ค.ศ. 2024 UNHCR จะทำงานเพื่อสนับสนุนประเทศเคนยาในความตั้งใจที่จะป้องกันและแก้ไขภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้ประสบความสำเร็จต่อไป
Share on Facebook Share on Twitter