เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ UNHCR ลงพื้นที่ค่ายผู้ลี้ภัยบ้านต้นยาง จ.กาญจนบุรี เพื่อติดตามการทำงานในพื้นที่และสถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในค่ายในประเทศไทย ร่วมกับเจ้าหน้าที่ภาคสนามของ UNHCR
กว่า 30 ปี ที่ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา เกือบ 100,000 คน ถูกบังคับให้หนีจากสงครามและความรุนแรง พักพิงอยู่ในค่ายที่พักพิงทั้ง 9 แห่ง ใน 4 จังหวัด ตามแนวชายแดยไทย-เมียนมา เจ้าหน้าที่ UNHCR ทำงานอยู่ในพื้นที่ร่วมกับรัฐบาลและองค์กรพันธมิตรเพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ผู้หญิง ผู้สูงอายุ ผู้พิการและครอบครัวที่เปราะบางมากที่สุดได้รับความคุ้มครองและความช่วยเหลือ รวมถึงการหาทางออกที่ยั่งยืนในวันที่พวกเขายังไม่สามารถกลับบ้านได้อย่างปลอดภัย
แจ็คสัน…พร้อมแล้วที่จะสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเองในประเทศบ้านเกิด
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ผู้ลี้ภัยจำนวน 565 คนในประเทศไทยได้เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดที่เมียนมา ผ่านกระบวนการกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจ
UNHCR ให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ความปลอดภัยของประเทศต้นทางเพื่อให้แน่ใจถึงสวัสดิภาพของผู้ลี้ภัยเมื่อกลับบ้าน เรามีกิจกรรม “Go and See” ให้ผู้ลี้ภัยได้ไปประเมินสถานการณ์ในบ้านเกิดด้วยตนเอง ก่อนจะสมัครเข้าโครงการกลับมาตุภูมิโดยสมัครใจเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง
แจ็คสันผู้ลี้ภัยบ้านต้นยาง จ.กาญจนบุรี ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรม Go and See กล่าวว่าโครงการนี้สร้างความเชื่อมั่นให้กับเขาอย่างมาก ในอดีตเขาต้องลี้ภัยออกมาพร้อมครอบครัวหลังจากที่ถูกกลุ่มติดอาวุธเผาบ้านถึง 3 ครั้ง ตอนนี้สถานการณ์ที่ดีขึ้นในเมียนมาเขาทิ้งท้ายด้วยความฝันของเขา “ผมอยากกลับไปสร้างทุกอย่างขึ้นมาใหม่ด้วยตัวเอง”
เปลี่ยนพื้นที่ว่างในที่พักพิงเป็นพื้นที่ส่วนรวม เพื่อมอบโอกาสการเรียนรู้ให้กับเด็กๆ ผู้ลี้ภัย
นอว มู เซ (ขวา) ลี้ภัยจากความรุนแรงในประเทศบ้านเกิดพร้อมครอบครัวมายังค่ายผู้ลี้ภัยบ้านต้นยางในปี 2552 ความโหดร้ายและสุขภาพที่แย่ลงในระหว่างลี้ภัยส่งผลต่อสภาพจิตใจของเธออย่างรุนแรง ทำให้เธอต้องได้รับการดูแลสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง
เธอและครอบครัวดีใจทุกครั้งที่ได้พบกับกลุ่มอาสาสมัครในค่ายผู้ลี้ภัย ที่ไปเยี่ยมเยียนเธอและครอบครัวเป็นประจำทุกเดือน นอกจากจะให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตแล้ว ยังเป็นกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความหวัง การสนับสนุนของคุณช่วยให้กลุ่มอาสาสมัครในค่ายผู้ลี้ภัยทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยที่มีความต้องการพิเศษได้อย่างสม่ำเสมอ
ถึงแม้ว่าครอบครัวของนอว มู เซ จะต้องพบกับเรื่องราวที่โหดร้าย แต่พวกเขาก็มีใจสู้ และยังร่วมสร้างประโยชน์ให้กับเพื่อนๆผู้ลี้ภัยในค่ายอีกด้วย โดยคุณแม่ของนอว มู เซ (ซ้าย) ได้เปลี่ยนพื้นที่พักพิงของเธอ สอนคณิตศาสตร์เพิ่มเติมให้กับเด็กๆผู้ลี้ภัย และยังชวนให้ผู้ลี้ภัยที่มีความรู้คนอื่นๆได้เข้ามาช่วยสอนภาษาอังกฤษอีกด้วย
การทำงานของอาสาสมัครผู้ลี้ภัยที่สนับสนุนโดย UNHCR
กอ พอ มู (นามสมมุติ) กับลูกชายวัย 6 ขวบ เป็นอีกครอบครัวที่ได้รับความช่วยเหลือจากกลุ่มอาสาสมัครในค่ายผู้ลี้ภัย ซึ่งสนับสนุนโดย UNHCR ลูกชายของกอ พอ มูมีอาการชักเกร็งบ่อย ๆ ไม่สามารถไปโรงเรียนได้และต้องคอยดูแลอาการอย่างใกล้ชิด กลุ่มอาสาสมัครจึงได้ทำการเยี่ยมบ้านเดือนละ 1 ครั้งเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิดและให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
ความฝันของเธอคืออยากให้ลูกกลับมาหายดีแข็งแรง…ความฝันนี้ใกล้เป็นจริงขึ้นทุกๆ วัน เพราะมีคุณอยู่เคียงข้าง
Share on Facebook Share on Twitter