โควิด-19 ทำให้บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติหลายล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับความลำบากมากขึ้น นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว
ในวาระที่โครงการ #IBelong ของ UNHCR เพื่อการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติภายใน พ.ศ. 2567 ครบรอบ 6 ปีในปีนี้ นายกรันดีได้เรียกร้องให้ผู้นำทั่วโลกให้ความคุ้มครองแก่บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ และร่วมสร้างความเปลี่ยนแปลงเพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไป
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการตระหนักถึงการมีอยู่ของบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติและเร่งขจัดปัญหานี้ให้หมดไป เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคไม่มีการแบ่งแยกว่าบุคคลนั้นจะมีสัญชาติหรือไม่ ไม่ว่าประเทศ สังคม หรือชุมชนใด ไม่ควรมีบุคคลที่ไร้รัฐไร้สัญชาติและต้องอยู่แบบคนชายขอบของสังคมนั้นๆ” นายกรันดี เสริม
“เราต้องพยายามมากขึ้นอีกเป็นเท่าตัวเพื่อแก้ไขปัญหาด้านมนุษยชนในทศวรรษที่ 21 นี้อย่างทันท่วงที”
การไร้สถานะและสิทธิทางกฎหมาย และบ่อยครั้งทำให้ไม่สามารถเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่มีความจำเป็นได้ ทำให้บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติขาดการเข้าถึงสิทธิทางการเมืองและเศรษฐกิจ ถูกกีดกันและเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์และถูกคุกคาม ในหลายประเทศบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ รวมถึงผู้ลี้ภัยที่ไร้รัฐไร้สัญชาติต้องมีชีวิตอย่างลำบากและขาดสุขอนามัยที่ดีซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ
แม้ว่าจะเป็นการยากที่จะรู้ถึงข้อมูลของประชากรไร้รัฐไร้สัญชาติ เนื่องจากพวกเขามักไม่ได้ถูกรวมอยู่ในการสำรวจสำมะโนประชากร แต่จากรายงานของ UNHCR พบว่าบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติมีจำนวนกว่า 4.2 ล้านคนใน 76 ประเทศ ทั้งนี้ เชื่อว่าจำนวนที่แท้จริงนั้นจะสูงกว่านี้อีกมาก
ในขณะที่มีความคืบหน้าในการทำงานเพื่อลดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติทั่วโลกนับตั้งแต่เริ่มต้นโครงการในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2557 นั้น สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่กลับซ้ำเติมความทุกข์ยากและความอยุติธรรมต่อบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติมากขึ้นอีก
“การที่ไม่ถูกรวมว่าเป็นพลเมือง ทำให้บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงหรือไม่ได้ถูกรวมอยู่ในการรับบริการสาธารณสุขที่จำเป็นรวมทั้งการขาดการคุ้มครองทางสังคม พวกเขาจึงมีความเปราะบางมากที่สุดในวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้” นายกรันดี กล่าว
อย่างไรก็ตามบางประเทศได้แสดงความเป็นผู้นำในการแก้ไขปัญหา โดยได้รวมบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติเข้าไว้ในแผนรับมือต่อโรคโควิด-19 เพื่อให้พวกเขาได้รับการตรวจและรักษา ได้รับอาหาร เสื้อผ้า และหน้ากากอนามัย บางประเทศได้กำหนดให้การจดทะเบียนการเกิดและบริการทางทะเบียนราษฎรอื่นๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น และยังคงให้บริการแม้ในช่วงวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติเพิ่มมากขึ้น
นายกรันดี กล่าวต่ออีกว่า “ภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติเป็นเรื่องที่สามารถแก้ไขและป้องกันได้ไม่ยาก หากรัฐมีความตั้งใจที่จะยกระดับสถานะและชีวิตของผู้คน เพราะการนิ่งเฉยโดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดนี้ก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิต”
“เพื่อคุ้มครองและรักษาชีวิตของผู้คน เราเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมกันยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติให้หมดไป เพื่อที่จะไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง”
หมายเหตุถึงบรรณาธิการ ข้อมูลเพิ่มเติม
ตั้งแต่ริเริ่มโครงการ #IBelong ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เพื่อยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติภายใน พ.ศ. 2567
Share on Facebook Share on Twitter