มาเยลิน เบร์การ่า เปเรซ (มาเย) ได้อุทิศชีวิตของเธอเพื่อคุ้มครองเด็กๆ ด้วยตำแหน่งผู้ประสานงานประจำแถบแคริเบียนของมูลนิธิเรนาเซ (Renacer Foundation) เธออุทิศตัวมากกว่า 2 ทศวรรษเพื่อช่วยหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรของประเทศโคลอมเบียให้ไปถึงเป้าหมายในการขจัดการล่วงละเมิดและคุกคามทางเพศเด็กและเยาวชน โดยก่อตั้งเมื่อ 32 ปีก่อน หน่วยงานได้ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผู้ที่รอดจากการถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีและผู้ที่รอดจากการถูกคุกคามทางเพศด้านอื่นๆ มากกว่า 22,000 คน
“บุคคลอย่างมาเยเป็นตัวแทนจากด้านที่ดีที่สุดของมนุษย์เรา ความกล้าหาญและการเสียสละของเธอได้ช่วยชีวิตและปกป้องกลุ่มเด็กที่เปราะบางที่สุดในโลกไว้ อันเป็นการกระทำที่สมควรได้รับการยกย่อง” นายฟิลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าว
“เธอคือคุณค่าที่เป็นแก่นแท้ของรางวัลนี้ ความอุตสาหะของเธอได้ช่วยชีวิตเด็กผู้ลี้ภัยหลายร้อยคนและมอบความหวังในการมีอนาคตที่ดีคืนแก่พวกเขา” นายกรันดี เสริม
รางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR ยกย่องการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่แก่ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่น ตลอดหลายปีที่ผ่านมา บุคคล กลุ่มบุคคล และหน่วยงานได้รับรางวัลนี้ไปแล้วมากกว่า 82 รางวัลจากการอุทิศตนอย่างไม่ย่อท้อเพื่อผู้ลี้ภัยและการทำงานอย่างหนักเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่นและบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ
เป็นเวลาที่ยาวนานกว่า 20 ปีที่มาเยได้เสี่ยงชีวิตเพื่อเข้าช่วยเหลือทั้งเด็กหญิงและเด็กชายที่ตกเป็นเหยื่อการถูกคุกคามและถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ เธอใช้วิธีเดินเข้าค้นหาทุกพื้นที่ของชุมชนชายขอบในตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศโคลอมเบีย ซึ่งเป็นพื้นที่ที่กลุ่มขบวนการลักลอบและค้ามนุษย์ดำเนินการอยู่
มาเยได้นำทีมเจ้าหน้าที่มูลนิธิเรนาเซร่วมทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันสวัสดิการครอบครัวในโคลอมเบีย (Colombian Family Welfare Institute) ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาลที่ดำเนินงานคุ้มครองเด็กในประเทศแถบอเมริกาใต้
จากการออกมาต่อต้านการล่วงละเมิดต่างๆ ที่เธอได้พบเห็นมา เธอเรียกร้องให้ภาคประชาสังคม หน่วยงานต่างๆ ของประเทศโคลอมเบีย และภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในด้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศและการค้ามนุษย์ในประเทศให้ร่วมมือกันทำให้เด็กและเยาวชนได้รับความคุ้มครอง
“การแสวงหาประโยชน์ทางเพศส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างมาก ไม่ว่าทางอารมณ์ จิตใจ กายภาพ และสังคม” มาเยกล่าว “เราเห็นเด็กผู้หญิงหลายคนที่รู้สึกว่าร่างกายไม่ใช่ของเขา เนื่องจากโดนทารุณกรรม ถูกล่วงละเมิด และถูกเอาเปรียบทางร่างกายอย่างรุนแรง เหตุการณ์เหล่านี้ทำให้พวกเขารู้สึกแตกแยกจากร่างกายของตัวเอง เสมือนว่าร่างกายพวกเธอเป็นของคนอื่น”
ในพ.ศ. 2552 การเคลื่อนไหวและเรียกร้องอย่างต่อเนื่องของมาเยได้นำมาซึ่งการออกกฎหมายสำคัญถึง 2 เรื่อง ประมวลกฎหมายมาตรา 1329 ที่ได้กำหนดให้ผู้มีส่วนร่วมและสมรู้ร่วมคิดในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชนต้องโทษจำคุกอย่างน้อยเป็นเวลา 14 ปี และมาตรา 1336 ที่เอาผิดต่อเจ้าของสถานที่ที่เอื้อต่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กและเยาวชนในพื้นที่นั้นๆ
จากการประมาณการทั่วโลกระบุว่า ผู้คนหลายล้านคนถูกค้ามนุษย์ในแต่ละปี ซึ่งในจำนวนเหยื่อจากการประมาณการนั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็กผู้หญิง
ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ ผู้ขอลี้ภัย และผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ คือกลุ่มบุคคลที่ตกอยู่ในความเสี่ยงสูงเพราะการพลัดถิ่นนั้นเพิ่มความเปราะบางให้พวกเขามากยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ความขัดแย้งยิ่งเป็นตัวกระตุ้นกระบวนการผิดกฎหมายในรูปแบบต่างๆ ที่มีอยู่เดิมแล้ว เช่น การคลุมถุงชนเด็กให้กับสมาชิกกลุ่มติดอาวุธและการสร้างความต้องการใหม่ๆ เช่น การบังคับเข้าร่วมกองกำลัง สิ่งเหล่านี้เป็นการเพิ่มการจัดหาเหยื่อรายต่อไปให้มีจำนวนสูงขึ้น
ตั้งแต่พ.ศ. 2558 สถานการณ์ในเวเนซุเอลาเข้าขั้นวิกฤตทำให้ผู้คนหลายล้านคนจำเป็นต้องหนีออกจากประเทศ ประชาชนราว 1.7 ล้านคนต้องไปแสวงหาที่พักพิงในโคลอมเบีย ประเทศเพื่อนบ้าน ชาวเวเนซุเอลาค้นหาทุกวิถีทางเพื่อออกจากประเทศไปแสวงหาที่พักพิงที่ปลอดภัย ซึ่งนั่นทำให้หลายๆ คนต้องตกเป็นเหยื่อของกระบวนการค้ามนุษย์ กลุ่มอาชญากรและกลุ่มติดอาวุธผิดกฎหมายซึ่งโดยมากมักดำเนินการอยู่บริเวณชายแดน ผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมักถูกผู้ลักลอบบังคับให้เข้าสู่การถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศเพื่อเป็นค่าผ่านทาง
จากข้อมูลของรัฐบาลโคลอมเบีย ระหว่างพ.ศ. 2558 ถึง 2562 จำนวนเหยื่อของการค้ามนุษย์ในประเทศเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23 ซึ่งส่วนเหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากการทะลักเข้ามาในประเทศของผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลา
ข้อมูลของรัฐบาลโคลอมเบียแสดงว่า ภายใน 4 เดือนแรกของพ.ศ. 2563 เจ้าหน้าที่พบว่าอัตราการค้ามนุษย์ที่มีความเกี่ยวข้องกับประชากรจากประเทศอื่น ได้เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยมากกว่าครึ่งของการค้ามนุษย์นั้นเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบตามมาอย่างมหาศาลต่อผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่น ผลกระทบทางเศรษฐกิจของวิกฤตการณ์นี้ทำให้ชาวเวเนซุเอลาจำนวนมากตกงานและไร้ที่อยู่อาศัย ส่งผลให้พวกเขาต้องเผชิญกับความยากจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของการถูกล่วงละเมิดทางเพศและถูกแสวงหาประโยชน์จากการค้ามนุษย์ อีกทั้งการขาดโอกาสทางการศึกษา ทำให้เด็กๆ ตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์และล่วงละเมิดมากยิ่งขึ้น เด็กหลายคนถูกใช้แรงงานหรือถูกบังคับให้แต่งงานเพื่อนำเงินไปช่วยประทังชีพแก่ครอบครัว
ข้อกำหนดที่เข้มงวดบริเวณชายแดนเพื่อจำกัดการระบาดของเชื้อไวรัสได้บังคับให้ผู้คนที่จำเป็นต้องหนีออกมาจากประเทศต้องพึ่งพาวิธีการที่ผิดปกติในการเดินทางเพื่อหาที่พักพิงที่ปลอดภัย
UNHCR ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสถาบันระดับประเทศและท้องถิ่นเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการมอบความช่วยเหลือแก่ผู้ลี้ภัยและผู้อพยพชาวเวเนซุเอลาและส่งเสริมการรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับชุมชนที่ลี้ภัย เรายังมอบความคุ้มครองชีวิตแก่บุคคลที่เดินทางเข้ามาใหม่ มอบการเข้าถึงสิ่งของเครื่องใช้และบริการขั้นพื้นฐาน ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันอย่างสันติกับชุมชนที่ให้การพักพิง รวมถึงการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น เอกสารระบุตัวตน การศึกษา และการจ้างงาน
“การขจัดการค้ามนุษย์และคุ้มครองเด็กจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ ไม่ใช่เพียงแค่ภาระผูกพันตามกฎหมาย แต่คือภารกิจทางศีลธรรมที่ต้องการความร่วมมือจากทั่วโลก” นายกรันดีกล่าว “ปีนี้เป็นปีครบรอบ 20 ปี ของพิธีสารปาเลอร์โม (Palermo Protocol) สนธิสัญญาระหว่างประเทศฉบับแรกเรื่องการค้ามนุษย์และเป็นก้าวแรกของประชาคมโลกในการต่อต้านเรื่องดังกล่าว ถือเป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้แสดงความมุ่งมั่นอีกครั้งในการขจัดอาชญากรรมที่เลวร้ายนี้ร่วมกัน”
#UNHCRThailand #NansenAward #WithRefugees
– จบ –
หมายเหตุถึงสื่อมวลชน
สามารถดาวน์โหลดภาพและวีดีโอเพิ่มเติมได้ที่ https://www.unhcr.org/media-nansen-refugee-award-2020
เกี่ยวกับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของ UNHCR
รางวัลผู้ลี้ภัย “นานเซ็น” เป็นรางวัลที่ UNHCR มอบให้แก่บุคคลที่อุทิศตนทำงานเพื่อผู้ถูกบังคับให้พลัดถิ่น บุคคลที่ได้รับรางวัลในปีที่ผ่านมา อาทิ อซิซเบค อชูรอฟ ทนายความผู้ร่วมขับเคลื่อนความสำเร็จของสาธารณรัฐคีร์กีซในการยุติภาวะไร้รัฐไร้สัญชาติได้เป็นประเทศแรกของโลก, ศัลยแพทย์ชาวซูดานใต้ ดร. อีวาน อทาร์ อดาฮา และ ซานน่า มุสตาฟา นักกฎหมายและผู้เป็นสื่อกลางจากรัฐบอร์โน ในเขตตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไนจีเรีย
ส่วนหนึ่งของรางวัลนี้คือเงินรางวัลจำนวน 150,000 เหรียญสหรัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประเทศสวิตเซอร์แลนด์และนอร์เวย์ โดยผู้ได้รับรางวัลสามารถนำไปเป็นทุนในการพัฒนาโครงการที่ดำเนินงานอยู่เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยภายใต้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดจาก UNHCR
รางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นได้รับทุนสนับสนุนร่วมจากรัฐบาลสวิส รัฐบาลนอร์เวย์ สภารัฐกิจแห่งสาธารณรัฐเจนีวา สภาบริหารแห่งนครเจนีวา และมูลนิธิอิเกีย
พิธีมอบรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็น ประจำ พ.ศ. 2563
พิธีมอบรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นจัดขึ้นแบบออนไลน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในวันที่ 5 ตุลาคม โดยมี อัลฟอนโซ เฮอเรลล่า นักแสดงชาวแม็กซิโกและทูตสันถวไมตรีของ UNHCR เป็นผู้ดำเนินรายการ ในพิธีดังกล่าวจะมีอิซาเบล อัลเลนเด นักเขียนวรรณกรรมขายดีชาวชิลีและอดีตผู้ลี้ภัย เป็นผู้กล่าวคำปราศรัยหลัก, การแสดงดนตรีหลักโดยทูตสันถวไมตรีของ UNHCR และเจ้าของตำนานเพลงแอฟโฟร-ป๊อปชื่อดังของโลกและผู้สนับสนุนด้านการเงินบริจาคเพื่อการกุศล 2Baba จากเมืองลากอส ประเทศไนจีเรีย
ศิลปินอื่นๆ ที่มีพื้นเพเป็นผู้ลี้ภัยมาร่วมแสดง ได้แก่ เอฮัม อาหมัด นักเปียโนชาวปาเลสไตน์-ซีเรีย ผู้ที่เป็นที่รู้จักจากหนังสือ The pianist of Yarmouk, เจ เจ โบลา นักกวีในประเทศอังกฤษและอดีตผู้ลี้ภัยจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และ มาเรีย กุซมาน และ ครูซ มิเกล โซโต โนเกรา นักเต้นสองคนจากประเทศเวเนซุเอลา
พิธีมอบรางวัลปิดท้ายด้วยการแสดงพิเศษ โดยฮวนส์ นักดนตรี นักร้อง และนักแต่งเพลงชาวโคลอมเบีย และ นาช แร็ปเปอร์และนักกวีชาวสเปน
เกี่ยวกับ UNHCR
สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) หน่วยงานภายใต้องค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็น
องค์กรหลักในการดำเนินการมอบความคุ้มครองระหว่างประเทศแก่ผู้ที่ถูกบังคับให้ออกจากบ้านเนื่องจากความขัดแย้งและการประหัตประหาร เราทำงานมอบความช่วยเหลือชีวิตขั้นพื้นฐาน เช่น ที่พักพิง อาหารและน้ำสะอาด มอบความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และหาทางออกอย่างยั่งยืนให้ผู้แสวงหาที่พักที่ปลอดภัยที่เรียกว่าบ้านเพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้ นอกจากนี้เรายังทำงานเพื่อช่วยเหลือบุคคลไร้สัญชาติให้ได้รับสัญชาติด้วยเช่นกัน
ติดตามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UNHCR ได้ที่เว็บไซต์ www.unhcr.org/th
Share on Facebook Share on Twitter