หลังประเทศต้องเผชิญกับเหตุระเบิดครั้งใหญ่ใจกลางกรุงเบรุต วิกฤต COVID-19 และวิกฤตเศรษฐกิจ ข้าหลวงใหญ่ UNHCR เรียกร้องความช่วยเหลือจากประชาคมโลกสนับสนุนการช่วยเหลือประเทศเลบานอนและประชากรผู้ลี้ภัยจำนวนมากในประเทศ
© นายฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ UNHCR ถ่ายรูปร่วมกับกลุ่มผู้หญิงผู้ลี้ภัยในที่พักพิงชั่วคราว พื้นที่หุบเขาเบกา ประเทศเลบานอน © UNHCR/Houssam Hariri
ระหว่างการลงพื้นที่ซึ่งเป็นภารกิจแรกนับตั้งแต่การล๊อคดาวน์ นายกรันดี ได้พบกับครอบครัวในเบรุตที่ได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิด ลงพื้นที่คัดแยกผู้ป่วยและโรงพยาบาลพื้นที่ส่วนต่อขยายทางตอนเหนือของประเทศที่สร้างโดย UNHCR ตามแผนการช่วยเหลือในวิกฤต COVID-19
นอกจากนี้ข้าหลวงใหญ่ได้พูดคุยกับครอบครัวที่ได้รับผลกระทบร้ายแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ส่งผลให้ความยากจนพุ่งสูงขึ้น สร้างความยากลำบากให้กับประชาชนชาวเลบานอนและประเทศที่ให้ที่พักพิงแก่ผู้ลี้ภัยมากที่สุด
“นี่เป็นประเทศที่มอบที่พักพิงให้กับผู้ลี้ภัยชาวปาเลนไตน์ อิรักและโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ลี้ภัยจากวิกฤตการณ์ซีเรียมายาวนานมากกว่า 70 ปี และตอนนี้เลบานอนต้องการความช่วยเหลือมากที่สุด” ข้าหลวงใหญ่กล่าว “นี่เป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายมาก วิกฤตต่างๆ กำลังรุมเร้าประเทศเลบานอนในเวลาเดียวกัน”
“ในเวลาเช่นนี้ สำคัญอย่างยิ่งที่โลกจะต้องร่วมยืนหยัดเคียงข้างเลบานอนและมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับประชาชนและแน่นอนว่าผู้ลี้ภัยต้องยืนหยัดด้วยตัวเองอีกครั้ง” เขาเสริม “เราต้องลงมืออย่างรวดเร็ว ลำเลียงทรัพยากร ช่วยเหลือชุมชนเพื่อที่อย่างน้อยจะช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของผู้คนที่ผมได้พบเจอหลายวันที่ผ่านมานี้”
“เราอาศัยอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจอธิบายได้”
ในจำนวนผู้ที่นายกรันดี เดินทางไปพบ เขาได้พบกับคาลิล อิบราฮิม ผู้ลี้ภัยจากเมืองอเลปโป ประเทศซีเรียที่หนีจากประเทศเลบานอนนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 มาพักพิงอยู่ในหุบเขาเบกา เขาได้รับบาดเจ็บและไม่สามารถหารายได้หลังโรงงานผลิตกระเบื้องต้องปิดตัวลง
ด้วยค่าใช้จ่ายและหนี้สินที่เพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจทำให้สถานการณ์ของผู้ลี้ภัยในเลบานอนอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนเพิ่มจำนวนสูงขึ้นจากร้อยละ 55 เป็นร้อยละ 75 ครอบครัวถูกบังคับให้ต้องพึ่งพิงรายได้ที่มาจากนาห์เอ็ด ลูกสาวคนโตของครอบครัววัย 12 ปี ที่ต้องออกจากโรงเรียนเพื่อมาช่วยแม่เก็บผักในฟาร์มท้องถิ่นเพื่อหารายได้ 2 ดอลลาห์ ต่อวัน หรือราววันละ 62 บาท
“ฉันให้ลูกออกจากโรงเรียนเพราะเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจอธิบายได้” คาลิล เล่า “มันเป็นการตัดสินใจที่ยากลำบากมาก ผมเป็นพ่อ เป็นผู้นำครอบครัว ผมควรเป็นคนที่หารายได้ให้ครอบครัว”
คาลิล เล่าว่าวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่มาตรการการป้องกันโรคระบาด COVID-19 ทำให้ภรรยาและลูกสาวไม่สามารถทำงานได้ บังคับให้เขาต้องไปกู้หนี้ยืมสินและไม่สามารถหาเงินมาจ่ายคืนได้
“จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 เราไม่มีงานอีกเลย” คาลิล อธิบาย “ค่าเช่าบ้าน ค่าไฟ ค่าน้ำ เราต้องจ่ายทั้งหมดนี้ทุกสิ้นเดือนและราคาที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้ผมต้องหยิบยืม”
UNHCR ขยายความช่วยเหลือเท่าที่สามารถทำได้ โดยมอบความช่วยเหลือด้านการเงินแก่ครอบครัวที่เปราะบางมากที่สุดเพื่อให้พวกเขาสามารถอยู่ได้ในภาวะเงินเฟ้อและวิกฤตเศรษฐกิจที่เป็นผลมาจากข้อจำกัดตามมาตรการการป้องกัน COVID-19
“ด้วยข้อจำกัดด้านการเดินทาง… ทำให้รายได้แม้เพียงเล็กน้อยที่ผู้ลี้ภัยรวมถึงประชาชนชาวเลบานอนเคยได้รับหายไป” นายกรันดี กล่าว
“นี่คือเหตุผลว่าทำไมการมีมาตรการในการให้ความช่วยเหลือทางสังคมจึงสำคัญ และหน่วยงานใหญ่ๆ กำลังทำงานในเรื่องนี้ในระดับมหภาค และ UNHCR ร่วมกับโครงการอาหารโลก (World Food Programme) และองค์การยูนิเซฟ กำลังทำงานร่วมกับชาวเลบานอนและผู้ลี้ภัยเพื่อมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อให้อย่างน้อยสามารถก้าวข้ามความยากลำบากในระยะเฉียบพลันไปได้”
“ผมต้องการเพียงชีวิตที่สงบสุข”
แต่อย่างไรก็ตามมีความต้องการจำนวนมากและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมสามารถช่วยเหลือได้เพียงส่วนหนึ่งของความต้องการทั้งหมด
สำหรับคาลิล เขาหวังเพียงว่าครอบครัวจะสามารถหาทางออกจากสถานการณ์นี้ได้ ทำให้นาห์เอ็ดและพี่น้องของเธอมีวัยเด็กเหมือนเด็กทั่วไป
“ผมหวังว่าลูกสาวจะมีความสุขและหวังว่าเธอจะได้เรียนต่อ” คาลิล กล่าว “ผมต้องการให้เด็กๆ มีชีวิตที่ดี ไม่ต้องดีที่สุดก็ได้ ผมแค่ต้องการให้พวกเขามีเสื้อผ้าดีๆ ใส่ ผมไม่ต้องการความร่ำรวย ผมต้องการเพียงชีวิตที่สงบสุข”
ร่วมบริจาคเพื่อสนับสนุนการทำงานในเบรุตเพื่อมอบความคุ้มครองและช่วยชีวิต http://unh.cr/5f4ceb220
ติดตามการทำงาน: Facebook | LINE | Instagram | Twitter | TikTok
Share on Facebook Share on Twitter