3 ปี หลังจากเธอหนีมาที่บังคลาเทศ นูร์ เอย์นา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา เล่าความทรงจำในเมียนมา ประสบการณ์ระหว่างการหนี ความหวังและอนาคต
ภาพของนูร์ เอย์นา ผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญา ที่ค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง ประเทศบังคลาเทศ ตอนนี้เธอเป็นครูสอนเด็กๆ
© UNHCR/Iffath Yeasmine
ตอนนี้นูร์ ทำงานเป็นครูสอนภาษาเมียนมาที่ศูนย์การเรียนรู้ในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากูตูปาลอง เมืองค็อกซ์ บาซาร์ เธอเล่าเรื่องราวของเธอในเมียนมา สถานที่ที่ชาวโรฮิงญาเป็นชนกลุ่มน้อย เป็นบุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ ประสบการณ์ของเธอในฐานะผู้ลี้ภัย ความหวังและอนาคต
ที่เมียนมาเรามีที่ดินที่เราปลูกดอกไม้ พืชผักและต้นไม้ เรามีบ้านที่สมาชิกครอบครัวอาศัยอยู่ร่วมกัน แต่ความรุนแรงและการประหัตประหารทำให้เราต้องหนีออกจากบ้าน พวกเขาเผาบ้านในหมู่บ้านของเรา พวกเขายิงและทำร้ายคนจำนวนมากในหมู่บ้าน ทุกวันเราอยู่อย่างหวาดกลัว ท้ายที่สุดเราตัดสินใจหนี เราไม่มีทางเลือกอื่น
มันเป็นการเดินทางที่ยากลำบากที่สุดในชีวิตของฉัน เราเดินเท้า 13 วัน 13 คืน เพื่อข้ามแม่น้ำ ครอบครัวของฉันต่อแพจากไม้ไผ่ มีคนจำนวนมากขึ้นมากับเรา ฉันบอกไม่ได้ว่าจำนวนเท่าไหร่
วันนี้ในประเทศบังคลาเทศ เรา 3 คน พี่น้องอยู่กับแม่ในบ้านหลังเดียวกัน พี่สาวคนโตของฉันแต่งงานและอยู่กับสามีในอีกค่ายหนึ่ง ฉันมีพี่น้องคนอื่นๆ ในค่ายแห่งนี้ด้วยแต่เราไม่ได้อยู่ด้วยกันเหมือนตอนที่อยู่ในเมียนมา เราอยู่กระจัดกระจายในค่ายต่างๆ แต่เราคงหวังอะไรไม่ได้มากขณะที่เรายังอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัย
ฉันคิดถึงบ้านและสวนมากๆ แต่ส่วนมากจะคิดถึงการไปโรงเรียนและได้เรียนหนังสือมากกว่า ที่นั่นฉันไม่ต้องทำงาน เราสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ที่นี่ฉันต้องทำงานเพื่อดูแลครอบครัว ฉันคิดถึงชีวิตของฉันในเมียนมา
ก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ฉันสอนเด็กๆ ชาวโรฮิงญาที่ศูนย์การเรียนรู้ชั่วคราวในค่ายผู้ลี้ภัยกูตูปาลอง เราไม่มีอะไรสอนพวกเขามากแต่เด็กๆ สนุกที่ได้มา พวกเขาได้เรียนเกี่ยวกับตัวอักษร การนับเลข บทกวีและเพลงภาษาเมียนมา รวมถึงการได้เล่นสนุกกับเพื่อนๆ แต่การแพร่ระบาดของ COVID-19 เปลี่ยนชีวิตของเราทุกคน
ตอนนี้เราไม่สามารถไปที่ศูนย์การเรียนรู้เพราะเด็กๆ ไม่สามารถมาเรียนได้ ดังนั้นเราจึงเสนอการไปสอนที่บ้านให้บ่อยเท่าที่จะสามารถทำได้ เราเดินทางไปเยี่ยมนักเรียนที่บ้าน ทบทวนบทเรียนให้เด็กๆ เพื่อให้พวกเขาไม่ลืมสิ่งที่เรียนมา แต่ไม่ง่ายเลยที่เราจะสามารถเดินทางไปที่บ้านของนักเรียนหลายๆ คน ในเวลาเดียวกัน เราคิดถึงการได้เรียนด้วยกันที่ศูนย์การเรียนรู้
ที่ค่ายผู้ลี้ภัยแห่งนี้ เราอยู่ได้ด้วยความช่วยเหลือจากเงินบริจาค เราอยู่ในที่พักพิงที่ทำจากผ้าพลาสติกเอนกประสงค์และไม้ไผ่ ความเป็นอยู่ที่นี่มีความยากลำบากหลายอย่าง แต่ฉันคิดว่าการศึกษาเป็นเป็นปัญหาใหญ่ที่สุด ที่นี่เราขาดการศึกษาที่มีคุณภาพเพียงพอ เรามีเพียงความรู้และการศึกษาขึ้นพื้นฐาน มันไม่เพียงพอสำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาต่อในอนาคต
ที่เมียนมาฉันได้เรียนหนังสือ แต่เราไม่ได้รับอนุญาตให้เรียนต่อในระดับที่สูงกว่ามัธยมปลาย ฉันได้เรียนจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 2 เราต้องเผชิญกับการถูกแบ่งแยก เด็กๆ ที่ค่ายแห่งนี้จำนวนมากต้องการการศึกษาที่เหมาะสมและอยากเรียนสูงๆ แต่เราไม่มีประเทศและไม่มีรัฐบาลที่มอบการศึกษาให้เรา
ฉันไม่มีลูก ฉันยังไม่แต่งงานแต่ฉันต้องการการศึกษาสำหรับคนรุ่นหลังของเรา ฉันหวังว่าวันหนึ่งเราจะมีการศึกษาที่เหมาะสมให้กับชุมชนชาวโรฮิงญา
นับตั้งแต่ที่ฉันออกจากเมียนมา ชีวิตของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ที่นี่เรารู้สึกปลอดภัยแต่เรายังคิดถึงบ้านที่เมียนมาอยู่เสมอ ฉันคิดถึงบ้าน คิดถึงที่อยู่ ไร่สวน และชีวิตของเราในเมียนมา ฉันหวังว่าจะได้กลับบ้านและได้ทุกอย่างกลับคืนมา เราทุกคนคิดถึงบ้าน แต่เราไม่อาจกลับไปเผชิญความหวาดกลัวที่ทำให้เราต้องหนีออกมาได้
ฉันต้องการกลับไปอย่างปลอดภัยและกลับไปในฐานะของพลเมืองของเมียนมา ฉันยังคงหวังว่ามันจะเป็นไปได้หากประชาคมโลกช่วยกัน”
Share on Facebook Share on Twitter