มูลนิธิอิเกีย, อิงคา กรุ๊ปและอิเกีย กรุ๊ป ได้ให้ปฏิญาณว่าจะให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยเป็นจำนวน 2,500 คน ให้เข้าร่วมโครงการการฝึกทักษะอาชีพและฝึกภาษาที่ร้านค้าและสาขาย่อยของอิเกีย 300 สาขาใน 30 ประเทศจนถึงปี พ.ศ.2565
คำปฏิญาณดังกล่าวได้รับการส่งเสริมโดยคำมั่นจากมูลนิธิอิเกีย ที่จะสนับสนุนเงินบริจาคสูงถึง 3.4 พันล้านบาท (100 million euros) ตลอด 5 ปีต่อจากนี้
“การทำสิ่งที่ดี เป็นการทำธุรกิจที่ดี และที่อิเกียเราคิดไกลหลายชั่วอายุคน” โทลก้า อนชู, ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการค้าปลีก อิงคากรุ๊ปกล่าวในงานแถลงข่าวร่วมกับผู้บริหารมูลนิธิเลโก้, และบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่โวดาโฟน
อนชูกล่าวว่า อิเกียเล็งเห็นความสำคัญในการแบ่งปันเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับผู้ลี้ภัย “เพราะพวกเขาคือเพื่อน คือเพื่อนร่วมงาน และพรุ่งนี้อาจเป็นผมหรือคุณที่ตกอยู่ในสถานเดียวกัน อาจกลายเป็นลูกหลานของเรา ผมคิดว่าเราติดค้างผู้ลี้ภัยในการทำให้โลกได้รับรู้เรื่องราวน่ายินดีเกี่ยวกับพวกเขา”
“การทำสิ่งที่ดี เป็นการทำธุรกิจที่ดี และที่อิเกียเราคิดไกลหลายชั่วอายุคน”
มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ลี้ภัยทั่วโลกจำนวน 25.9 ล้านคนเป็นเด็ก และเพื่อพัฒนาชีวิตของพวกเขา มูลนิธิเลโก้ มอบกองทุน 3 พันล้านบาท(100 million USD) เพื่อจัดตั้งและส่งเสริมโครงการ PlayMatters ซึ่งเป็นโครงการส่งเสริมการเรียนรู้ผ่านการเล่นที่สร้างสรรค์ เพื่อเสริมสร้างทักษะความยืนหยุ่นทางสังคม อารมณ์ ร่างกายและความคิดสร้างสรรค์แก่เด็กผู้ลี้ภัย
“เรามุ่งเน้นเรื่องการศึกษาแก่เด็กเล็ก” จอห์น กู๊ดวิน ผู้บริหารมูลนิธิเลโก้ กล่าว “เป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยให้เด็กๆ เหล่านั้นได้รับในสิ่งที่พวกเขาต้องการตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งในการช่วยให้พวกเขาก้าวข้ามความเจ็บปวดจากประสบการณ์ที่เลวร้ายและความยากลำบากที่ต้องเผชิญ ชี้เส้นทางที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิต”
มูลนิธิโวดาโฟน มุ่งมั่นที่จะขยายการสนับสนุนการศึกษาแบบดิจิตอลอย่างมีคุณภาพผ่านทางโครงการ Instant Network Schools ให้กับเด็กผู้ลี้ภัยเพิ่มขึ้นจาก 85,000คนเป็น 500,000 คน
เรามุ่งมั่นขยายเครือข่าย Instant Network Schools ในประเทศเคนยา แทนซาเนียและสาธารณรัฐคองโก เชื่อมต่อนักเรียนกับทรัพยากรทางการศึกษา และโลกออนไลน์อันกว้างใหญ่ และจะขยายไปประเทศอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2568
“มีเด็กผู้ลี้ภัยจำนวนสูงถึง 4 ล้านคนที่ไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา” โจอาคิม ไรเตอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศ บริษัทโวดาโฟน “เราจำเป็นต้องเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษา เพื่อให้เด็กทุกคนไม่ว่าพวกเขาจะเกิดที่ไหน หรือแม้แต่ในค่ายผู้ลี้ภัย มีสิทธิ์ที่จะกำหนดอนาคตของพวกเขาเองให้ดีที่สุด”
ครั้งแรกของการประชุม World Refugee Forum จัดขึ้นที่กรุงเจนีวา ถึงวันที่ 18 ธันวาคม เพื่อหาทางออกให้กับเด็ก ผู้หญิงและผู้ชายจำนวน 70 ล้านคนทั่วโลก ที่ถูกประหัตประหารจากภัยสงคราม ความขัดแย้ง รวมถึงผู้ลี้ภัยอีก 25.9 ล้านคนที่กำลังแสวงหาความปลอดภัยและความคุ้มครองระหว่างประเทศในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก
“เราจำเป็นต้องเติมเต็มช่องว่างทางการศึกษา”
การประชุมทั้ง 3 วัน รวบรวมผู้เข้าร่วมงานมากมาย ทั้งผู้ลี้ภัย ผู้นำรัฐบาล ผู้นำจากสหประชาชาติ สถาบันระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนา กลุ่มตัวแทนภาคประชาสังคมและผู้นำด้านธุรกิจ
องค์กรน้อยใหญ่กว่า 30 องค์กร ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานกฎหมาย บริษัทข้ามชาติ กลุ่มกิจการเพื่อสังคม มูลนิธิเอกชน พันธมิตรและเครือข่ายการลงทุนต่างๆ ได้ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในการให้คำปฏิญาณ
สิ่งนี้คือศูนย์กลางการขับเคลื่อนเป้าหมายของ Global Compact on Refugees ซึ่งเป็นกรอบความร่วมมือเพื่อการแบ่งปันความรับผิดชอบที่แน่นอนและเท่าเทียมจากทุกฝ่าย ซึ่งได้รับการรับรองโดยที่ประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเมื่อปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงความร่วมมือด้านการสร้างโอกาสเพื่อการศึกษา การฝึกทักษะอาชีพ และการสร้างงานเพื่อผู้ลี้ภัย
“ขณะที่ความขัดแย้งเดิมยังคงดำเนินต่อไป และถึงแม้ว่าจะมีความขัดแย้งใหม่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนหลายล้านคนต้องพลัดถิ่น เราต้องหาทางสร้างแรงบันดาลใจและความร่วมแรงร่วมใจในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและประเทศที่ให้ที่พักพิง เมื่อนั้นเราทุกคนจะสามารถทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างเต็มที่” ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติกล่าวก่อนการแถลงข่าว
“ภาคเอกชนใหญ่มีความคิดสร้างสรรค์และความมุ่งมั่นที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งได้ให้คำมั่นไว้ในงาน Global Refugee Forum และมีอีกหลายบริษัทที่พร้อมให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติม” กรันดี เสริม
นอกจากนี้ยังมีการให้คำมั่นในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยด้านอื่นๆ เช่น การให้บริการปรึกษาทางกฎหมายโดยไม่มีค่าใช้จ่าย บริการด้านการพัฒนาธุรกิจ การลงทุนในธุรกิจที่ดำเนินโดยผู้ลี้ภัย นวัตกรรมด้านการลงทุน และความช่วยเหลือด้านการเงิน รวมไปถึงการเข้าถึงพลังงานสะอาด และปลอดภัย
ฮัมดิ อูลูกาญา, ผู้บริหารบริษัทโชบานี และผู้ก่อตั้ง Tent Partnership for Refugees เพื่อมอบความช่วยเหลือในวิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วโลก กล่าวถึงการจ้างงานผู้ลี้ภัยของเขาที่รัฐที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตผู้ลี้ภัย
“ตั้งแต่นาทีแรกที่พวกเขาเริ่มทำงานได้ คือนาทีที่พวกเขาไม่ใช่ผู้ลี้ภัยอีกต่อไป”
ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับความร่วมมือจาก Global Refugee Forum ได้ที่นี่
Share on Facebook Share on Twitter